วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ร้านค้าชุมชน
ร้านค้าชุมชน หมายถึง ร้านค้าที่กลุ่มหรือคณะบุคคลร่วมกันทำการค้าขายในหมู่บ้านโดยชาวบ้านเป็นสมาชิกถือหุ้น มีการเลือกตั้งกรรมการ บริหารร้านค้าโดยคัดเลือกจากสมาชิกผู้ถือหุ้น และมีการปันผลกำไร (เงินปันผลจากค่าหุ้นหรือเงินปันผลคืนจากการซื้อสินค้า) ของร้านค้าคืนให้กับสมาชิก ร้านค้าชุมชนบ้านสามขาเกิดมาจากความต้องการของคนในชุมชนที่อยากมีร้านค้าเกิดขึ้นในชุมชน ที่สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคายุติธรรม ไม่ต้องเดินทางเข้าไปซื้อในเมือง เป็นเสมือนสวัสดิการหนึ่งในชุมชน ร้านค้าชุมชนบ้านวังเจ้าจึงถือกำเนิดจากเงินทุนของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน


ความเป็นมาของร้านค้าชุมชน จากการที่รัฐบาลมีนโยบายการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อมิให้เกิดการกระจุกตัวในส่วนกลาง ซึ่งทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่มีปัญหาในการถูกเอารัดเอาเปรียบในการหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขายผลผลิต รวมทั้งขาดความรู้และประสบการณ์ และขาดอำนาจต่อรองทางการค้าตลอดจนมองไม่เห็นโอกาสและช่องทางที่จะนำภูมิปัญญาของตนเองมาพัฒนาในเชิงธุรกิจ ประกอบกับเกิดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศทำให้ประชากรมีรายได้ลดลงจึงจำเป็นที่หน่วยงานของภาครัฐจะประสานร่วมมือกันในการเสริมสร้างประสิทธิภาพ การดำเนินกิจกรรมให้แก่ชุมชนและกลุ่มอาชีพ จากนโยบายกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการสนับสนุนการรวมกลุ่มของ ประชาชนเพื่อจัดตั้งร้านค้าชุมชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลให้สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่เป็นธรรมและเพิ่มอำนาจในการต่อรองทางการค้า รวมทั้งสามารถใช้ร้านค้าชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภายใต้การบริหารของกลุ่มคนในชุมชนและภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน และวิชาการด้านการบริหารจัดการ การบัญชี

โครงสร้างการบริหารงานร้านค้าชุมชน 

- สมาชิกผู้ถือหุ้นสมาชิกผู้ถือหุ้นของร้านค้าชุมชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารงานโดยมีสิทธิในการเลือกตั้งกรรมการเพื่อมาบริหารร้านค้าแทนสมาชิกและร่วมกันกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ของร้านค้าเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการในขณะเดียวกันสมาชิกต้องให้ความร่วมมือในการซื้อสินค้า

- คณะกรรมการ จะมีจำนวนประมาณ 7 - 10 คน โดยคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธาน รองประธาน คณะกรรมการจัดซื้อ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบัญชี คณะกรรมการฝ่ายการเงิน ซึ่งคณะกรรมการ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริตและมีความเสียสละ

- ผู้จัดการร้านค้า จะคัดเลือกจากคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ควบคุมดูแลร้านค้า เช่น การขายสินค้า การซื้อสินค้าเข้าร้าน ฯลฯ โดยการดำเนินการ ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ

การคัดเลือกและจัดตั้งร้านค้าชุมชน ในการส่งเสริมจัดตั้งร้านค้าชุมชนจะต้องพิจารณาจากความพร้อมและความ ประสงค์ของสมาชิกในชุมชนเป็นหลัก ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิก เช่น การไม่เข้ามาช่วยในการบริหารงานของร้าน การไม่ซื้อสินค้าจากร้านค้าฯลฯ การดำเนินงานของร้านค้าก็ไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้

จากการดำเนินการที่ผ่านมามีข้อสังเกต คือ การจัดตั้งร้านค้าชุมชนในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลหรือการคมนาคมไม่สะดวกจะได้เปรียบและประสบความสำเร็จ มากกว่าร้านค้าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองและมีการคมนาคมสะดวก ดังนั้น ในการคัดเลือกและส่งเสริมจัดตั้งร้านค้าชุมชนให้ประสบความสำเร็จได้ จะต้องพิจารณา ดังนี้

- สมาชิกในชุมชน มีความพร้อมและประสงค์จะจัดตั้งร้านค้า

- เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลหรือการคมนาคมไม่สะดวก

- สมาชิกต้องให้ความร่วมมือในการบริหารงานและการซื้อสินค้าจากร้านค้า

- กรรมการบริหารร้านค้ามีความเสียสละซื่อสัตย์สุจริตและมีความโปร่งใสในการบริหาร

- ร้านค้ามีการขายสินค้าเป็นเงินสด หรือมีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อในปริมาณน้อย

การจัดหาสถานที่สำหรับการจัดตั้งร้านค้าชุมชน ควรเป็นแหล่งชุมชน และมีการสัญจรผ่านไปมาของสมาชิกร้านค้าและประชาชนในชุมชน ซึ่งสถานที่ใช้ในกรณีที่เป็นสาธารณะหรือที่ส่วนบุคคลจะต้องมีหลักฐานยินยอมให้ใช้ประโยชน์จากผู้มีอำนาจในการอนุญาตใช้สถานที่ ปัญหาของร้านค้า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงการคมนาคมระหว่างพื้นที่สะดวก การประกอบธุรกิจขยายตัวในทุกระดับพื้นที่ การแข่งขันทางการค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการจัดตั้งร้านค้าชุมชนลดลงปัจจุบันกรมฯ จะมุ่งเน้นพัฒนาร้านค้าที่มีอยู่ให้เข้มแข็งสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน สำหรับเงินทุนรายใหม่ จะเป็นหมู่บ้านที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจและที่จังหวัดที่เห็นสมควร

- ให้ความรู้ในการบริหารจัดการ การวางระบบบริหารจัดการ
- ให้คำปรึกษาแนะนำ ร่วมแก้ไขปัญหา และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานจากสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด
- ได้มีการพัฒนาการจัดวางสินค้าและภาพลักษณ์ของร้านค้าชุมชนเป็นร้านค้าซื้อสะดวก เพื่อให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกต่าง ๆ รวมทั้งได้มีการจัดประกวดร้านค้าชุมชนดีเด่นระดับประเทศเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ร้านค้า

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไปให้พ้นการผูกติดตลาดในระบบทุนใหญ่
จากปัญหาการเข้ามาของห้างโลตัสที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อร้านค้าของชำทั่วไป และร้านขายของสด แต่บนฐานของร้านค้าชุมชนที่มุ่งตอบสนองแก่สมาชิก ยอดซื้อยังคงเพิ่มขึ้น และกำไรก็ยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากสินค้าในร้านตอบสนองแก่ลูกค้ารายเล็กๆ การไปซื้อของที่ห้างโลตัสแม้ไม่กี่กิโลเมตรแต่ก็ยังสิ้นเปลืองค่าน้ำมัน และค่าเสียเวลาเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวประมงที่ทำงานแทบไม่มีเวลาหยุดพัก อีกทั้งประชาชนก็ไม่นิยมเดินห้างเท่าไหร่นัก ประโยชน์ของห้างโลตัสยังมีอีกในการซื้อของเข้าร้านสมาชิกยังซื้อของได้ใกล้ลง และพอดีกับยอดสั่งซื้อแต่ละอาทิตย์ไม่จำเป็นต้องไปซื้อถึงในเมือง ในชุมชนจึงมองห้างโลตัสเป็นแค่เครื่องมือ จนมีคำกล่าวในชุมชนว่า “ไปเดินห้างเพื่อเปิดหูเปิดตา รับแอร์เย็นๆ แต่กลับมาซื้อของที่ร้านค้าชุมชน”

บทสรุปร้านค้าชุมชน
ร้านค้าชุมชนเป็นกิจกรรมที่สร้างผลกำไรต่อเนื่องและยั่งยืน หากมีการบริหารจัดการที่ดี บนบริบทและฐานวัฒนธรรม ทั้งนี้ต้องไม่มองไปที่ธุรกิจหรือกำไร แต่มองว่า เป็นกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างจริง เงินทุกบาทที่เสียไปก่อเกิดประโยชน์แก่ชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
การบริหารจัดการในเรื่องร้านค้าชุมชนมีเทคนิคและวิธีการอีกมาก เพื่อให้เป็นร้านค้าชุมชน ของชุมชนอย่างแท้จริง มองกำไรเป็นเรื่องเล็ก มองการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องใหญ่ และมองไปใหไกลว่า การสร้างร้านค้าชุมชน ตอบสนองต่อความสุข และความยั่งยืนของชุมชนได้อย่างไร